ตากุ้งยิง 

ตากุ้งยิง (stye หรือ hordeolum)
เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณฐานของขนตา ใต้เปลือกตา 
โดยมีอาการบวม แดง ร้อน และอาจมีอาการปวด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตาสามารถรักษาได้ด้วยยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา หรือรับประทานยาปฏิชีวนะ

ตากุ้งยิงสามารถพบได้ทุกอายุ ทุกเพศ เป็นการอักเสบของหนังตา 
สมัยก่อนถ้าใครตาบวมแดง และมีตุ่มเล็กๆขึ้นที่ตา มักจะถูกล้อว่าเป็น “ตากุ้งยิง”
และคาดเดาสาเหตุต่างๆของการเกิดตากุ้งยิง บริเวณขอบเปลือกตาของคนเราจะมีต่อมขนาดเล็กๆ เป็นจำนวนมาก ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้อักเสบเป็นฝีที่เปลือกตา
เรียกว่า “กุ้งยิง” ทำให้มีก้อนที่เปลือกตา มีอาการบวม เจ็บ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ต่อไป
ก้อนนี้จะเป็นหนองและแตกเองได้


ทุกท่านคงจะเห็นลักษณะของตากุ้งยิงว่าเป็นอย่างไรมาไม่มากก็น้อย คนส่วนใหญ่ มักจะบอกได้ว่าลักษณะของตุ่มที่ตาอย่างนี้เป็นตากุ้งยิงได้ไม่ยาก

แต่ที่พบเป็นปัญหาเสมอมานั่นก็คือ การที่เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก พอตุ่มแรกหายไปเริ่มจะสบาย อีกตุ่มหนึ่งก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นอีกแล้ว
 

  • สาเหตุ 
    กุ้งยิงเกิดขึ้นเนื่องจากต่อมไขมันบริเวณโคนขนตาอุดตันแล้วมีเชื้อโรคแทรกซ้อนเข้าไป 
    สิ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ก็เป็นผลเนื่องมาจากความต้านทานของร่างกายลดน้อยลง
    รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา พักผ่อนน้อย ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ร่างกายอ่อนแอลง รวมไปถึงพวกใช้สายตามาก สายตาผิดปกติแล้วไม่แก้ไข
    
    เกิดจากมือไม่สะอาดมาถูไถบริเวณตา ก็จะเกิดเป็นตากุ้งยิงได้ง่าย 
    สาเหตุสำคัญที่สุดทีทำให้เปลือกตาไม่สะอาด เกิดจากการขยี้ตาบ่อยๆ
    
    กุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย 
    บางรายเกิดเนื่องจากมีการอุดตันของต่อมเปลือกตานำมาก่อนแล้วเกิดการติดเชื้อมีอยู่ปกติในบริเวณนั้นตามมา เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดกุ้งยิงส่วนใหญ่ 
    ได้แก่ เชื้อหนอง Staphylococcus aureus หากไม่รักษาหนองอาจจะหายเองได้หรืออาจจะแตกออก หรืออาจเกิดเป็นก้อนซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่
    จนรบกวนการมองเห็น ใช้เครื่องสำอางแล้วล้างออกไม่หมด หรือล้างไม่สะอาด สาเหตุอาจเกิดจากการใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือไม่สะอาด
    
    

อาการ

  • ผู้ป่วยจะมาด้วย มีก้อนที่เปลือกตา อาจเห็นเป็นตุ่มหนองหรือตุ่มอักเสบ 
    และ มีอาการปวดหนังตา เวลาที่กรอกตาหรือหลับตาจะทำให้ปวดมากขึ้น
  • บางคนมีอาการบวมที่เปลือกตา ในกรณีที่บวมมากตาจะปิด
    บางรายอาจพบหนองไหลออกจากเปลือกตา ซึ่งหากหนองแตกในตาจะทำให้มีขี้ตาเป็นสีเขียว
  • น้ำตาไหล บางรายมีอาการคันที่ตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอม บางคนมีอาการแพ้แสงแดด

 

ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตากุ้งยิง

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ
  • ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง
การรักษา

1.สำหรับกุ้งยิงในระยะแรก ซึ่งมีลักษณะแบบเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง รักษาโดยการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นวันละ 6 ครั้ง 
  ครั้งละประมาณ 10 นาที เป็นเวลา 3-4 วัน เพื่อช่วยลดอาการบวม เจ็บ และเป็นการทำให้รูเปิดของต่อมเปลือกตาไม่อุดตันในขณะทำการประคบให้หลับตาไว้
2.ไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากขึ้นได้
3.ยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานร่วมด้วย
4.กุ้งยิงที่เป็นประมาณ 2-3 วันขึ้นไป ถ้ายังไม่ดีขึ้น มักจะมีหนองอยู่ภายในก้อน จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อเจาะและขูดเอาหนองออกและใช้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 3-5 วัน 
  หรือจนกว่าจะหายอักเสบ ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าหนองออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี หลังจากเจาะกุ้งยิงแพทย์มักปิดตาข้างนั้นไว้เพื่อไม่ให้เลือดออก 
  และช่วยลดอาการบวมประมาณ 4-6 ชั่วโมง
5.ไม่ควรขับรถในช่วงที่เป็นกุ้งยิง อาจเกิดอุบัติเหตุได้
6.ถ้ามีอาการปวดเจ็บบริเวณที่เป็น ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ

ภาวะแทรกซ้อน

1.หากไม่รักษา ในบางรายอาจจะทำให้เกิดเป็นก้อนแข็ง เกิดแผลที่แก้วตา หรือความผิดปกติของหนังตา
2.ขนตางอกผิดปกติ หรืออาจจะเกิดรู
3.อาจจะทำให้ตาอักเสบ
4.กุ้งยิงที่กลับเป็นซ้ำบ่อยๆ
5.การติดเชื้อกระจายไปที่ต่อมขนตา หรือเนื้อเยื่อรอบๆเปลือกตา

การป้องกัน

1.ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสผิวหนังรอบเปลือกตา
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณเปลือกตาหรือขยี้ตาบ่อยๆ
3.กุ้งยิงเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ ถ้าระมัดระวังในเรื่องของสุขอนามัย 
  กุ้งยิงไม่ใช่โรคร้ายแรง โดยทั่วไปมักรักษาให้หายได้ภายใน 5-7 วัน การรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นเพียงเล็กน้อย จะช่วยให้การอักเสบหายเร็วขึ้น
4.ในกรณีที่กุ้งยิงเป็นนานผิดปกติหรือเป็นซ้ำบ่อยๆ ควรเช็ดไขมันส่วนเกินออกจากบริเวณขอบของเปลือกตา 
  และควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
5.ผู้ที่เป็นกุ้งยิงบ่อยๆ ต้องส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
  โอกาสที่กุ้งยิงจะเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีกจะลดน้อยลงไป

วรรีบปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • สายตาผิดปกติ
  • อาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
  • ก้อนมีขนาดใหญ่มากและเจ็บ
  • พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา
  • เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด
  • เปลือกตาแดง หรือตาแดงทั่วไปหมด
  • มีอาการแพ้แสงแดด
  • กุ้งยิงกลับเป็นซ้ำหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว
  • ก้อนที่เปลือกตาพบเลือดออก 

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ